วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อุปกรณ์การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

เรื่องที่ 1 ลักษณะของโรงเรือนไก่พื้นเมือง
         โรงเรือนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองนั้น ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวแน่นอน โรงเรือนอาจจะทำเป็นเพิงหมาแหงนกลาย แบบหน้าจั่วและอื่น ๆ การที่จะเลือกแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการเลี้ยง วัสดุอุปกรณ์ ต้นทุน ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองส่วนใหญ่ในชนบทจะเลี้ยงไก่พื้นเมืองในบริเวณบ้านและทำโรงเรือนไว้ใต้ถุนบ้าน หรือใต้ยุ้งฉางการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบนี้จะหวังผลแน่นอนไม่ได้ ไก่พื้นเมืองบางรุ่นรอดตายมาก บางรุ่นอาจตายหมด มีจำนวนน้อยรายมากที่ทำโรงเรือนแยกต่างหากจากบริเวณบ้านพัก ดังนั้น เพื่อให้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยพักหลับนอนในตอนกลางคืนด้วย
โรงเรือนไก่พื้นเมืองมีความสำคัญมาก สภาพของโรงเรืองไก่พื้นเมืองที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
         1. สามารถป้องกันแดดกันฝนได้ดี
         2. ภายในโรงเรือนควรโปร่ง ไม่อับทึบ ไม่ชื้น และระบายอากาศดีแต่ไม่ถึงกับมีลมโกรก
         3. ควรสร้างโรงเรือนแบบประหยัด ใช้สิ่งก่อสร้างที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น รักษาความสะอาดง่าย ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคได้ทั่วถึง
         4. ป้องกันศัตรูต่าง ๆ ได้ดี เช่น สุนัข แมว นก และหนู
         5. ห่างจากที่พักพอสมควร สะดวกต่อการเข้าปฏิบัติงานดูแลไก่พื้นเมือง มีที่ให้อาหารและน้ำ
เรื่องที่ 2 วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้และวิธีการสร้างโรงเรียนไก่พื้นเมือง
         วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างโรงเรือนไก่พื้นเมือง ควรพยายามใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ แฝก หญ้าคา ตะปู ลวดผูกลวดตาข่าย หรือถ้าผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองมีเงินทุน อาจใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นเสาและโครงหลังคา ถ้าเป็นโรงเรืองขนาดใหญ่วิธีการสร้างโรงเรือนไก่พื้นเมืองสำหรับผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองรายย่อยโดยทั่วไป ไม่ค่อยพิถีพิถันกันมาก เพียงแต่ยึดหลักใหญ่ ๆ คือราคาถูกไม่ชื้นแฉะ ระบายอากาศได้ดี ไม่มีลมโกรก ป้องกันแดดกันฝนได้ ปฏิบัติงานได้สะดวก และมีพื้นที่ให้ไก่พื้นเมืองอยู่อย่างไม่แออัด
สุภาพที่ตั้งของโรงเรือน ควรห่างจากที่พักพอสมควร และอยู่ในที่เนินสูง พื้นโรงเรือนไก่พื้นเมืองอาจจะปูด้วยแกลบ ขี้เลื่อย หรือฟางแห้งหนาอย่างน้อยประมาณ 4 เซนติเมตร และควรเปลี่ยนวัสดุรองพื้นโรงเรือนไก่พื้นเมืองทุก ๆ 3 เดือน เมื่อสังเกตเห็นว่าวัสดุรองพื้นดูดซับความชื้นได้ไม่ดีโดยนำไปทำประโยชน์ในรูปของปุ๋ยหรือนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของปุ๋ยหมักได้โรงเรือนไก่พื้นเมืองกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 1 เมตร จะใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองขนาดใหญ่ได้ประมาณ 6-8 ตัว ถ้ามีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร ก็จะใช้เลี้ยงไก่พื้นเมืองขนาดใหญ่ได้ประมาณ 30-40 ตัว
ด้านที่ฝนสาดหรือแดดส่องมาก ๆ ควรมีผ้าใบ กระสอบ แฝก หรือเสื่อเก่า ๆ ห้อยทิ้งไว้ โดยเฉพาะมุมที่วางรังไข่ สำหรับคอนให้ไก่พื้นเมืองนอน ควรพาดไว้มุมใดมุมหนึ่งของโรงเรียน คอนนอนควรเป็นไม้กลมจะดีกว่าไม้เหลี่ยม ซึ่งไก่พื้นเมืองจะจับคอนนอนได้ดี และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่หน้าอกด้วย
ส่วนประกอบของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองในส่วนอื่น ๆ คือ กรงขนอดเล็กสำหรับขังลูกไก่พื้นเมือง อาจจะมี 2-3 กรง หรือมากกว่านี้ บางคนใช้สุ่มแทนกรง แล้วแต่จำนวนลูกไก่พื้นเมือง ในบางครั้งอาจใช้กรงขังลูกไก่พื้นเมืองขนาดใหญ่ก่อนจำหน่าย หรือขังไก่ที่ไม่แข็งแรงได้
เรื่องที่ 3 วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง
หลังจากที่ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองสร้างโรงเรือนแล้ว ส่วนประกอบอย่างอื่นที่ขาดไม่ได้ คือ อุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง อุปกรณ์ที่จำเป็นมีดังนี้
           1. ภาชนะใส่อาหาร ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองส่วนใหญ่จะให้อาหารไก่พื้นเมืองโดยวิธีการโปรยหว่านลงบนลานหรือพื้นดิน แล้วปล่อยให้ไก่พื้นเมืองจิกกินเอง ทำให้ไก่พื้นเมืองตัวเล็ก ๆ ได้รับอาหารไม่ค่อยเพียงพอเพราะไก่พื้นเมืองที่ใหญ่กว่าจะแย่งจิกกินเสียจนหมดก่อน ดังนั้น ผู้ที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองควรแยกไก่พื้นเมืองตัวใหญ่และตัวเล็กออกจากกัน จัดภาชนะใส่อาหารให้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้อาหารหกเรี่ยราดตัวไก่พื้นเมือง ไก่พื้นเมืองเองก็ปลอดภัยจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นดิน ภาชนะใส่อาหารไก่พื้นเมืองในชนบทควรเลือกใช้อุปกรณ์ราคาถูกจากวัสดุในท้องถิ่นที่ทำง่ายทนทานรักษาความสะอาดได้ง่าย เช่น กระบอกไม้ไผ่ผ่าซีก หรือยางรถยนต์ผ่าซีกก็ได้ แต่ถ้ามีเงินทุนมากหน่อยก็อาจซื้อที่ให้อาหารไก่แบบแขวนถังกลมที่นิยมกัน สำหรับภาชนะใส่อาหารเลี้ยงลูกไก่พื้นเมืองในระยะ แรก ๆ ควรใช้ถาดหรือภาชนะตื้น ๆ และให้เพียงพอกับจำนวนไก่พื้นเมืองที่เลี้ยง เพราะตามธรรมชาติแล้ว ไก่พื้นเมืองจะกินอาหารพร้อม ๆ กัน
          2. ภาชนะใส่น้ำ ควรจัดหามาให้ไก่พื้นเมืองได้กินน้ำตลอดเวลาภาชนะใส่น้ำนี้อาจใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก ถ้วย จาน อ่างดิน หรือจะซื้อภาชนะใส่น้ำแบบขวดสำเร็จรูปก็ได้
         3. รังไข่ รังไข่เป็นสิ่งจำเป็นและต้องมีให้ครบตามจำนวนแม่ไก่พื้นเมือง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาแม่ไก่พื้นเมืองแย่งรังไข่กัน ขนาดของรังไข่ควรกว้าง 1ฟุต ยาว 1 ฟุต สูง 8 นิ้ว แล้วใช้ฟางหญ้าแห้งรองเพื่อป้องกันไข่แตก รังไข่ที่ใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป อาจจะใช้เข่ง ปุ้งกี๋ หรือตะกร้าเก่า ๆ ไป วางไว้ให้ไก่พื้นเมืองไข่ก็ได้ ที่สำคัญที่ตั้งของรังไข่ควรอยู่ในที่มิดชิด ไม่ถูกแดดและฝน มิฉะนั้นไข่ไก่พื้นเมืองจะเน่าเสีย ฟักไม่ออกเป็นตัวก็ได้ เมื่อมีการฟักไข่ไปครอกหนึ่ง ควรเปลี่ยนวัสดุรองไข่เสียทีหนึ่ง
         4. คอนนอน ตามธรรมชาติไก่พื้นเมืองจะไม่นอนบนพื้นดิน แต่ชอบนอนบนต้นไม้ หรือคอนไม้ ดังนั้น การสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมืองควรมีคอนนอนให้ไก่พื้นเมืองไว้มุมใดมุมหนึ่งได้พักผ่อนในเวลากลางคืน ข้อสำคัญไม่ควรสร้างให้แคบจนเกินไป เพราะจะทำให้ไก่พื้นเมืองนอนแออัดหรือแย่งที่นอนกันได้
         5. สุ่มหรือกรง ในกรณีที่ต้องการอนุบาลลูกไก่พื้นเมืองในระยะแรก เพื่อให้ลูกไก่พื้นเมืองมีความแข็งแรงพอที่จะวิ่งหรือเดินตามแม่ไก่พื้นเมืองนั้น ควรเตรียมสุ่มไว้ 1-2 ใบ เพื่อใช้ขังแม่ไก่พื้นเมืองและลูกไก่พื้นเมืองใน 1-2 สัปดาห์แรก หากจะใช้กรงควรทำเป็นกรงขนาดเล็กโดยยกให้สูงจากพื้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น