วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของ ไก่เหล่าป่าก๋อย

ประวัติความเป็นมาของ ไก่เหล่าป่าก๋อย

ไก่ป่าก๋อย

ไก่ชนเหล่าป่าก๋อยนั้น เราพอทราบกันอยู่แล้วว่ามีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านเหล่าป่าก๋อย จังหวัดลำพูน แต่ต้นกำเนิดรากเหง้าเป็นมากันอย่างไร วันนี้เราจะลองไปสืบประวัติกันคร่าวๆ นะครับ ไก่ชนเหล่าป่าก๋อยเริ่มเป็นที่รู้จักในภาคเหนือเมื่ออดีตกาลประมาณปี พ.ศ.2526-2527 (เกือบ 30 ปีมาแล้ว ) แต่ก่อนหน้าที่ไก่ชนเหล่าป่าก๋อยจะเกิดขึ้น ในยุคนั้นเป็นช่วงที่ไก่พม่าเข้ามาเฟื่องฟูทางภาคเหนือของประเทศ

ด้วยความที่การชนไก่ทางภาคเหนือเป็นการชนแบบปล่อยตอ ตอที่ถูกหลาวแต่งจนแหลมคม ด้วยความที่ไก่พม่าเป็นไก่อาวุธดี ตีเร็ว มีแม่น ใช้ตอแทงได้ดี ตีแผลวงแดงเป็นหลัก ตีหู ตีตา แถมด้วยลีลาที่หลุดลอดถอด ถอย รำวง ม้าล้อ ว่ากันง่าย ๆ ก็คือมวยวงนอก ชกแล้วถอยหลอกล่อจนคู่ต่อสู้ที่เป็นไก่ไทยในยุคนั้นสู้ไม่ได้ แพ้เป็นส่วนมาก ชนะน้อย ไก่ไทยทางภาคเหนือตอนนั้นส่วนใหญ่อาจสรุปได้ว่ามีอยู่ 2 เชิงชน เชิงชนแรกจะเป็นไก่ ยืนตี จิ้มตี ปากไว ตีเม่น ตีวงแดง ซึ่งทางภาคกลางเราเรียกว่าไก่โจ้ ยืนแลกแข้งกัน เชิงชนที่ 2 ก็มีลักษณะเป็นไก่เชิง มุดมัด กอดตีลักษณะคล้ายไก่ตราด ทั้งสองลักษณะนี้ เป็นไก่พื้นเมืองของทางเหนือที่คนเหนือเรียกว่า ไก่เมือง ขนาดรอย ก็ส่วนใหญ่ก็มีน้ำหนักอยู่ที่ 2.0 – 2.5 กก.ขาดเกินก็ไม่มากจากนี้สักเท่าไหร่นัก
ไก่ป่าก๋อย
จากข้อมูลที่ว่ากันว่ามีการนำไก่จันทบุรีหรือไก่ทางภาคตะวันออกของไทยเราที่มีลักษณะเป็นไก่เชิงเข้าผสมกับไก่เมืองเหล่านี้ แล้วเกิดไก่เหล่าป่าก๋อยขึ้นมา ก็อาจมีส่วนถูกอยู่บ้างแต่ก็ไม่แน่ชัดนักครับ เพราะรุ่นแรกๆที่ออกมาถือว่าใช้ได้ แต่รุ่นหลังมาก็เริ่มแย่ลง กระทั่งต่อมาอีกหลายปี เมื่อไก่ผสมข้ามพันธุ์กันไปมาระหว่าง 3 สายพันธุ์ที่กล่าวมาข้างข้นอยู่ระยะหนึ่ง อาจเป็นเพราะเลือดความเป็นนักสู้ในบรรพบุรุษไก่ไทยที่ถูกไก่พม่ารุกรานมานานก่อให้เกิดไก่ที่มีลักษณะมีเชิงชนแบบไก่เชิง มุด มัดตี แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็ลักษณะเป็นไก่ที่ปากบอน จิกได้ตรงไหน ตีตรงนั้น คล่องแคล่ว ว่องไว ตีตัวเป็นหลัก ไม่ต้องห่วงหาหัวแล้ว แถมจิกตีแล้วขนหลุดติดปากมาด้วย พอลองเลี้ยงออกชนกับไก่พม่า ปรากฏว่า ไก่พม่าแพ้อย่างราบคาบ ธรรมชาติช่วยเติมเต็มอย่างน่าอัศจรรย์ครับ ไก่พม่าเป็นมวยวงนอก เรียกได้ว่าเป็นมวยสากล ต่อยหนี แย็บหนี แต่ไก่ที่เกิดขึ้นมาเป็นไก่วงใน หรือมวยวงใน เป็นมวยเข่าไร้น้ำใจ คว้าได้เป็นแทง คว้าได้เป็นแทงครับพี่น้อง แต่ตอนนั้นเขาก็ยังไม่ได้เรียกว่าไก่เหล่าป่าก๋อยนะครับ ไก่ลักษณะนี้เริ่มสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น พากันโจษจันกันไปทั่ว ว่าไก่อะไรจิกตีไม่เลือก แถมเอาชนะไก่พม่าได้อย่างสวยงามอีกด้วย ในช่วงแรกการเกิดไก่ที่มีลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกตัว หากแต่เกิดขึ้นกับไก่บางตัวเท่านั้นและยังไม่ใช่พันธุ์แท้ครับ

ไก่ป่าก๋อย
แต่โดยธรรมชาติของนักเพาะพันธุ์ไก่ชนเมื่อพบเห็นไก่ตัวใดชนชนะก็มักอยากเอาตัวเมียมาผสมด้วยและหากตัวใดออกมากัดตีไม่เลือก เชิงชนดี ตีลำหนัก ชนชนะก็เก็บเอาไว้ทำพ่อพันธุ์ แม่ไหนให้ลูกออกมามีลักษณะอย่างที่ว่าก็เก็บเอาตัวมัน ลูกสาวมันเอาไว้ทำพันธุ์ต่อจากไก่ที่คาบบ่าตีตัว จิกตีไม่เลือกจากหมู่บ้านเหล่าป่าก๋อยหมู่บ้านเดียวผสมไขว้กันไปมา พี่น้องผสมกัน ปู่ผสมหลาน ผสมตามแบบชาวบ้านที่อยากให้ไก่เลือดนิ่ง และอาจเกิดจากพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะดังกล่าวมีน้อยตัวในช่วงแรก ทำให้เกิดการผสมแบบเลือดชิดบ้าง(อินบรีด) ผสมในวงศ์ตระกูลเดียวกัน(ไลน์บรีดบ้าง) วันเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี ไก่ลักษณะดังกล่าว ก็เริ่มนิ่งลงเหล่า เริ่มที่จะสามารถส่งยีนเด่น ๆ ที่เป็นลักษณะไก่กัด คาบบ่า ตีตัว กัดไม่เลือกที่ได้แล้ว ถึงเวลานี้ (ราวปี พ.ศ.2526) สายพันธุ์แท้อีกสายพันธุ์หนึ่งของไทยก็เริ่มเกิดขึ้น

ผมอยากจะเอ่ยถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วท่านหนึ่งที่ทำให้ไก่เหล่าป่าก๋อยเป็นที่รู้จัก เขาคือ นายเดช ปาปวน เป็นชาวบ้านเหล่าป่าก๋อย และเป็นหลานของกำนันแก้ว ปาปวนเป็นผู้ที่ไก่ชนที่มีลักษณะกัดตี จิกตีไม่เลือก คาบบ่าตีลำตัวเป็นหลัก ออกชนตามสนามชนไก่แถวจังหวัดเชียงใหม่ จนเซียนไก่ผู้พบเห็น ประทับใจเชิงชนของไก่ดังกล่าว และสอบถามกันว่าไก่อะไรจิกตีไม่เลือก ไม่มีใครว่าเป็นไก่อะไร รู้แต่ว่ามันมาจากหมู่บ้านเหล่าป่าก๋อย ชาวไก่ชนจึงเรียกไก่ที่มีลักษณะเชิงชนอย่างนี้สั้น ๆ ว่า “ไก่เหล่าป่าก๋อย”
ไก่ป่าก๋อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น